วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน





อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน มีพื้นที่อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดแพร่ และอำเภอท่าปลา อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ พื้นที่ป่าปกคลุมตามเทือกเขาสลับซับซ้อนที่อยู่สูงกว่าระดับเก็บกักน้ำสูงสุดของเขื่อนสิริกิติ์ ประกอบด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำยมในเขตจังหวัดแพร่ และลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำน่านในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ประมาณ 624,468 ไร่ หรือ 999.15 ตารางกิโลเมตร โดยรวมพื้นที่ทั้งหมดราว 203 ตารางกิโลเมตร ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิตติ์เข้าไว้ด้วยจากการสำรวจพื้นที่บริเวณป่าแม่แคม ป่าแม่ก๋อน และป่าแม่สาย ในท้องที่อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ และป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา ป่าแม่จริม และป่าน้ำปาด ในท้องที่อำเภอท่าปลา อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่า มีสภาพป่าสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ หรือลำน้ำน่าน ซึ่งประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา มีพันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ และสัตว์ป่าหลายชนิด ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งมีมติเห็นชอบให้กำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่แคม ป่าแม่ก๋อน และป่าแม่สาย ในท้องที่ตำบลสวนเขื่อน ตำบลป่าแดง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ และป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา ป่าแม่จริม และป่าน้ำปาด ในท้องที่ตำบลท่าแฝก ตำบลนางพญา ตำบลน้ำหมัน ตำบลจริม ตำบลท่าปลา ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา และตำบลแสนตอ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา มีเนื้อที่ ประมาณ 999.15 ตารางกิโลเมตร หรือ 624,468 ไร่ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 67 ก ลงวันที่ 30 กันยายน 2541 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 87 ของประเทศไทย

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ


น้ำตกพาเจริญเป็นน้ำตกหินปูนที่สวยงามด้วยชั้นน้ำตกที่ไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นเล็กชั้นน้อยจำนวนมาก และตั้งอยู่ริมทางหลวงไม่ไกลจากเมืองแม่สอด จึงเป็นจุดที่นิยมแวะมาท่องเที่ยวและพักผ่อน อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ใน อำเภอแม่สอด และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ประกอบไปด้วยป่าที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนเป็น แหล่งต้นน้ำลำธาร และยังเป็นต้นกำเนิดของห้วยแม่ละเมา มีเนื้อที่ประมาณ 534,375 ไร่ หรือ 855 ตารางกิโลเมตร ด้วยกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้จัดตั้งวนอุทยานน้ำตกพาเจริญ ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด ท้องที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2535 ประกอบด้วยกรมป่าไม้ได้ พิจารณาแล้ว เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ป่าบริเวณต่างๆ กำลังถูกทำลาย และยึดถือครอบครองเป็นจำนวนมาก กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 937/2536 ให้นายธารากร อุดมธรรม เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ปฏิบัติงานประจำและทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยานน้ำตกพาเจริญ จังหวัดตาก ไปดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมและจัดตั้งพื้นที่ป่าบริเวณวนอุทยานน้ำตกพาเจริญ ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ละเมา ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด ป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องแคบ และป่าแม่โกนเกน ท้องที่จังหวัดตาก และพื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียงที่มีสภาพเหมาะสมเป็นอุทยานแห่งชาติ จากรายงานการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 เรื่องการจัดตั้งวนอุทยานน้ำตกพาเจริญ จังหวัดตาก ให้เป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด ในท้องที่ตำบลด่านแม่ละเมา ตำบลพะวอ ตำบลธาตุผาแดง ตำบลแม่กุ ตำบลแม่ตาว ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด ตำบลช่องแคบ ตำบลพบพระ ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีสภาพป่าที่สมบูรณ์และมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามเหมาะสมที่จะจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติขุนพระวอ




ขุนพระวอเป็นผืนป่าบนเทือกเขาสลับซับซ้อนทางด้านตะวันตกในเขตจังหวัดตาก ความชุ่มชื้นของป่าดงดิบที่ปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น ทำให้อุทยานแห่งชาติแห่งนี้เป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยหลายสายและเกิดน้ำตกสวยงามหลายแห่งภายในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติขุนพะวอมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 137,500 ไร่ หรือ 220 ตารางกิโลเมตร อยู่ในอำเภอแม่สอด และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ด้วยกรมป่าไม้ได้พิจารณาแล้วเนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ป่าบริเวณต่างๆ กำลังถูกบุกรุกทำลายและ ยึดถือครอบครองเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ให้คงอยู่ในรูปของอุทยานแห่งชาติ จึงได้สั่งเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมและกรมป่าไม้ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ที่ทำการสำรวจ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ละเมา ป่าแม่ระมาด ป่าสามหมื่น จังหวัดตาก เนื้อที่ประมาณ 220 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 137,350 ไร่ มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่าหลายชนิด มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีอาณาเขตทิศเหนือจดถนนหมายเลข 1175 ทิศใต้จดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 ทิศตะวันออกจดที่ทำกินหมู่บ้านพะวอ หมู่บ้านแม่ละเมา อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ทิศตะวันตกจดพื้นที่เขตป่านิคมสหกรณ์แม่สอด ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ละเมา
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบ ดินร่วนปนทราย ภูเขาแต่ละลูกเชื่อมโยงติดต่อกับขุนคลองลานซึ่งเป็นจุดสูงสุดในบริเวณนี้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,439 เมตร สภาพป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนหมาก ไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำปิง
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศในเขตอุทยานแห่งชาติ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 38 องศาเซลเซียส ดู ฤดูหนาวอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม 17 องศาเซลเซียส ในฤดูฝนมีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตรต่อปี

อุทยานแห่งชาติแจ้ช้อน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ และอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิด และมีทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตก แอ่งน้ำอุ่น บ่อน้ำพุร้อน ซึ่งสามารถเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่าใต้พื้นโลกเรายังมีความร้อนระอุอยู่ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ประมาณ 480,000 ไร่ หรือ 768 ตารางกิโลเมตรป่าไม้เขตลำปางได้มีหนังสือ ที่ กษ 0709 (ลป)/4181 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2524 เรื่อง ขอกำหนดพื้นที่ป่าบริเวณน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นวนอุทยาน กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งที่ 1648/2524 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2524 ให้นายนฤทธิ์ ตันสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปทำการสำรวจ สรุปได้ว่าสภาพป่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีจุดเด่นทางธรรมชาติสวยงามหลายแห่ง มีน้ำตกและน้ำพุร้อนไหลตลอดปี เหมาะสำหรับจัดเป็นวนอุทยาน ในปีงบประมาณ 2526 กรมป่าไม้ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานแอ่งน้ำอุ่น (วนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน) บริเวณน้ำตกแจ้ซ้อน ตำบลแจ้ซ้อน กิ่งอำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 45,000 ไร่ หรือ 75 ตารางกิโลเมตร โดยอยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตลำปาง

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอชาติตระการและอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก สภาพทั่วไปเป็นป่าอุดมสมบูรณ์และธรรมชาติที่สวยงาม เป็นต้นว่า น้ำตกชาติตระการ หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “น้ำตกปากรอง” เพราะตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปากรอง หน้าผาสูงชันที่มีสีสันผิดแปลกกันเป็นร่องรอยของศิลปยุคแรกของมนุษย์ คือ รอยแกะสลักกับแผ่นดินและจุดชมวิวทิวทัศน์บนยอดเขาสูงๆ มีเนื้อที่ประมาณ 339,375 ไร่ หรือ 543 ตารางกิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติตาดหมอก

อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากบริเวณที่ดินป่าตะเบาะ และป่าห้วยใหญ่ ในท้องที่ตำบลห้วยใหญ่ ตำบลบ้านโคก และตำบลนาป่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า ภูเขา และน้ำตกที่สวยงามยิ่ง สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพื่อสงวนไว้ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน และเพื่ออำนวยประโยชน์อื่นแก่รัฐและประชาชน มีเนื้อที่ประมาณ 181,250 ไร่ หรือ 290 ตารางกิโลเมตรเมื่อปี พ.ศ. 2532 จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้พบน้ำตกสวยงามเหมาะสมที่จะปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงได้ขอให้กรมป่าไม้ทำการสำรวจพื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าตะเบาะและป่าห้วยใหญ่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และกรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการเมื่อกลางปี งบประมาณ 2534 กรมป่าไม้ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0712.3/244 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 ตามมติที่ประชุม คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2537 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เห็นชอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการตราพระราชกำหนดบริเวณที่ดินป่าตะเบาะและป่าห้วยใหญ่ ในท้องที่ตำบลห้วยใหญ่ ตำบลบ้านโคก และตำบลนาป่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ นำเสนอร่างพระราชกำหนดให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ
อุทยานแห่งชาติอบขาน

อุทยานแห่งชาติออบขาน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 302,500 ไร่ หรือ 484 ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง ท้องที่ตำบลสะเมิงใต้ ตำบลแม่สาบ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขาน-แม่วาง ท้องที่ตำบลแม่วิน ตำบลบ้านกาด ตำบลดอนเปา ตำบลทุ้งปี้ อำเภอแม่วาง ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง และป่าท่าช้าง-แม่ขนิล ท้องที่ตำบลน้ำแพร่ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงที่สุด ได้แก่ ยอดขุนเตียนสูง 1,550 เมตร มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม ได้แก่ ออบขาน ออบไฮ ผาตูบ ถ้ำตั๊กแตน ถ้ำห้วยหก น้ำตกแม่สะป๊อก และน้ำตกขุนวิน นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าที่สำคัญอีกหลายชนิด ความวิกฤตการณ์เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะจากภัยธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์อุทกภัยภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2531 ส่งผลให้มีพระราชกำหนดปิดป่าสัมปทานทำไม้ (เฉพาะป่าบก) ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2532 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยให้กรมป่าไม้ดำเนินการตามนโยบายโดยรีบด่วน เมื่อพิจารณาแล้วกรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 475/2532 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2532 สั่งให้ข้าราชการในสังกัดกองอุทยานแห่งชาติ ออกไปสำรวจเบื้องต้นพื้นที่ป่าจำนวน 28 แห่ง ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แตง ป่าแม่ริม และป่าแม่สะเมิง ป่าแม่ขาน-แม่วาง ป่าท่าช้าง-แม่ขนิล จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการสำรวจเบื้องต้น ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้ นายทวีชัย คำภีระ ไปสำรวจเพิ่มเติมและจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า

ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอคลองลาน กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร และกิ่งอำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำปิง มีสัตว์ป่า นานาชนิด ตลอดจนจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผา โป่งแก๊สธรรมชาติ เป็นต้น มีเนื้อที่ประมาณ 466,875 ไร่ หรือ 747 ตารางกิโลเมตร ด้วย ฯพณฯ พันโทสนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ไปตรวจราชการในท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร เกี่ยวกับการบุกรุกทำลายป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองวังเจ้า และป่าคลองสวนหมาก ท้องที่อำเภอคลองลาน และอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2531 ได้บันทึกสั่งการให้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จังหวัดกำแพงเพชร ได้ประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2531 มีมติเห็นสมควรกำหนดบริเวณป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพธรรมชาติให้อยู่คงเดิมกองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กษ 0713/1499 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2531 เสนอกรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 1914/2531 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2531 ให้นายวิฑูรย์ อุรัชโนประกร นักวิชาการป่าไม้ 4 สำรวจจัดตั้งป่าบริเวณดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงในท้องที่จังหวัดตากเป็นอุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจตามหนังสืออุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าที่ กษ 0713(วจ)/11 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2532 รายงานว่าพื้นที่ป่าคลองวังเจ้า ป่าคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร ได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 488 (พ.ศ. 2515) ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอนที่ 175 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2515 และป่าประดาง-วังเจ้า อำเภอเมืองตาก ได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2507) ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 81 ตอนที่ 116 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2507 มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามเหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา

ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติดอยภูคามีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่ 8 อำเภอของจังหวัดน่าน ได้แก่ อำเภอปัว อำเภอท่าวังผา อำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอบ่อเกลือ อำเภอสันติสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และ อำเภอแม่จริม ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 1,704 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,065,000 ไร่ จึงทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของสภาพป่าอันจะเห็นได้จากการพบพืชพรรณ และสัตว์ป่าหายากหลากหลายชนิด และนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดน่าน โดยมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่น่าสนใจคือ ดอกชมพูภูคาซึ่งเป็นพันธ์ไม้หายากและมีที่แห่งนี้ที่เดียวในประเทศไทย ต้นเต่าร้างยักษ์ ป่าดึกดำบรรพ์ น้ำตกภูฟ้า พิชิตยอดดอยภูแว ชมถ้ำยอดวิมาน และถ้ำผาฆ้องความเป็นมา : ด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน (นายสมชาย โลหะโซติ ) ได้มีหนังสือ ที่ 13/2526 ลงวันที่ 24 กันยายน 2526 เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายณรงค์ วงศ์วรรณ) ว่าได้รับการร้องขอจากราษฎร ขอให้กำหนดป่าดอยภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน เป็นอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากยอดดอยภูคาเป็นยอดเขาสูงสุด ของจังหวัดน่านอันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด โดยมีความสูงถึง 1,980 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน มีทิวทัศน์ที่สวยงามเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการเล่าขานกันมาแต่ครั้งโบราณและเชื่อมั่นว่าเมืองเก่าของบรรพบุรุษคนเมืองน่านอยู่ในเขตบนเทือกเขาดอยภูคาต่อมากองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ได้มีหนังสือ ที่ กห 0483 (สน)/95 ลงวันที่ 27 มกราคม 2527 แจ้งว่าได้พบสภาพพื้นที่ป่าบริเวณบ้านปู จังหวัดน่าน พิกัดเส้นตรง 18-35 และเส้นราบ 07-70 ตามแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 มีความอุดมสมบูรณ์และธรรมชาติที่สวยงาม และพื้นที่บริเวณพิกัด คิว เอ 2686 มีน้ำตกที่มีความสวยงามขนาดใหญ่สมควรที่จะได้มีการออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ (เดิม) ได้มีคำสั่งที่ 1786/2526 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2526 ให้นายปัญญา ปรีดีสนิท นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปสำรวจพื้นที่เบื้องต้นดังกล่าว ปรากฏว่าสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่าชุกชุม เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ และมีทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงามหลายแห่ง
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อ พ.ศ.2515 ประกาศเป็นอุทยานฯ เป็นลำดับที่ 6 ของประเทศไทย มีพื้นที่ 482.4 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่มอำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ดอยอินทนนท์แต่เดิมดอยนี้มีชื่อว่า "ดอยหลวง" หรือ "ดอยอ่างกา" ดอยหลวง มาจากขนาดของดอยที่ใหญ่มาก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "ดอยหลวง" (หลวง: เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ใหญ่) ดอยอ่างกา มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากยอดดอยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 300 เมตร มีหนองน้ำแห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่าง ฝูงกาจำนวนมากมายมักพากันไปเล่นน้ำที่หนองน้ำแห่งนี้ จึงพากันเรียกว่า "อ่างกา" และภูเขาขนาดใหญ่แห่งนั้นก็เลยเรียกกันว่า "ดอยอ่างกา" แต่ก็มีบางกระแสกล่าวว่า คำว่า "อ่างกา" นั้น
แท้จริงแล้วมาจากภาษาปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) แปลว่า "ใหญ่" เพราะฉะนั้นคำว่า "ดอยอ่างกา" จึงแปลว่าดอยที่มีความใหญ่นั่นเอง ดอยอินทนนท์ อดีตกาลก่อนป่าไม้ทางภาคเหนืออยู่ในความควบคุมของเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (องค์สุดท้าย) พระองค์ให้ความสำคัญกับป่าไม้อย่างมาก โดยเฉพาะป่าในบริเวณดอยหลวง ทรงรับสั่งว่า หากสิ้นพระชนม์ลงให้นำอัฐิบางส่วนขึ้นไปสร้างสถูปบรรจุไว้บนดอย ดอยนี้จึงมีนามเรียกขานว่า "ดอยอินทนนท์" แต่มีข้อมูลบางกระแสกล่าวว่า ที่ดอยหลวงเรียกว่า ดอยอินทนนท์ นั้น เป็นเพราะเนื่องจากว่าเป็นการให้เกียรติ เจ้าผู้ครองนคร จึงตั้งชื่อจากคำว่า "ดอยหลวง" ซึ่งเป็นชื่อที่มีความซ้ำกับดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว แต่ภายหลังมีชาวเยอรมัน มาทำการสำรวจและวัด ซึ่งปรากฎผลว่า ดอยหลวง หรือดอยอ่างกา ที่อำเภอแม่แจ่มมีความสูงกว่า ดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ เพื่อไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกัน และเรียกดอยแห่งนี้ว่า "ดอยอินทนนท์" อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ "ป่าสงวนแห่งชาติดอยอินทนนท์" ต่อมาได้ถูกสำรวจและจัดตั้งเป็นหนึ่งในสิบสี่ ป่าที่ทางรัฐบาลให้ดำเนินการเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งครั้งแรกกรมป่าไม้เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ให้มีพื้นที่ 1,000 ตร.กม. หรือประมาณ 625,000 ไร่ แต่เนื่องจากพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ อาศัยอยู่ก่อนหลายชุมชน จึงทำการสำรวจใหม่ และกันพื้นที่ที่ราษฎร อยู่มาก่อน และคาดว่าจะมีปัญหาในอนาคตออก จึงเหลือพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 270 ตร.กม. หรือประมาณ 168,750 ไร่ ประกาศลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515 และในวันที่ 13 มิถุนายน 2521 รัฐบาลประกาศพื้นที่เพิ่มอีกเป็น 482.4 ตร.กม. อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ มีความสูงจากระดับน้ำทะลปานกลาง 400-2,565.3341 เมตร เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย สำหรับวัตถุประสงค์ในการกำหนดที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หมวด 1 มาตรา 6 ดังนี้ "เมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดบริเวณที่ดินแห่งใดมีสภาพธรรมชาติเป็นที่น่าสนใจ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมเพื่อสงวนไว้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน ก็ให้มีอำนาจกระทำโดยประกาศพระราชกฤษฎีกาด้วยบริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า อุทยานแห่งชาติ"
อุทยานแห่งชาติขุนแจ


ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติขุนแจ เป็นชื่อเรียกตามชื่อของน้ำตกขุนแจ ตั้งอยู่ทางเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทางจากเชียงใหม่ประมาณ 1 ชั่วโมง ตามทางหลวงสายเชียงใหม่-เชียงราย อุทยานแห่งชาติขุนแจ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 ถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญครอบคลุมเนื้อที่ถึง 270 ตารางกิโลเมตร ภายในอุทยานแห่งชาติ มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ สัตว์ป่า น้ำตกและทิวทัศน์ที่งดงาม มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 (เชียงใหม่-เชียงราย) ตัดผ่านกลางพื้นที่ และแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน เนื่องจากสถานการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ของชาติในปัจจุบันที่ค่อนข้างวิกฤต ดังที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปในฤดูกาลต่างๆ เช่น ฤดูฝนน้ำท่วม ฤดูร้อนมีอากาศร้อนอบอ้าวมาก และฤดูหนาวมีอากาศหนาวจัด เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุมาจากการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างไม่ถูกหลักวิชาการ มีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าไม้และการยึดครอง ที่ดิน ตลอดจนการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยมิได้คำนึงถึงผลเสียที่เกิดติดตามมาภายหลัง รัฐบาลจึงได้ปิดป่าสัมปทานทั่วประเทศและมีนโยบายที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในรูปป่าอนุรักษ์ไว้ส่วนหนึ่ง และจัดเป็นป่าเศรษฐกิจอีกส่วนหนึ่ง เพื่อจะได้แยกการจัดการทรัพยากรให้เป็นไปตามหลัก วิชาการและบรรลุเป้าหมายโดยเร็ว ทางกรมป่าไม้พิจารณาแล้วจึงเห็นควรที่จะสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะอนุรักษ์ของชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ในลักษณะของอุทยานแห่งชาติ จึงมีคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 475/2532 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2532 ให้ นายสุเมธ สิงห์ขวา นักวิชาการป่าไม้ 4 ปฏิบัติงานประจำอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าบริเวณน้ำตกขุนแจและพื้นที่ใกล้เคียง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปูนน้อย ป่าแม่ปูนหลวง และป่าห้วยโป่งเหม็น ในท้องที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เพื่อจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขุนแจ และ ปี พ.ศ. 2538 มีการประกาศในพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า 28 เล่มที่ 112 ตอนที่ 33 ก. เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2538 มีชื่อว่า “ อุทยานแห่งชาติขุนแจ ”