วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน





อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน มีพื้นที่อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดแพร่ และอำเภอท่าปลา อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ พื้นที่ป่าปกคลุมตามเทือกเขาสลับซับซ้อนที่อยู่สูงกว่าระดับเก็บกักน้ำสูงสุดของเขื่อนสิริกิติ์ ประกอบด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำยมในเขตจังหวัดแพร่ และลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำน่านในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ประมาณ 624,468 ไร่ หรือ 999.15 ตารางกิโลเมตร โดยรวมพื้นที่ทั้งหมดราว 203 ตารางกิโลเมตร ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิตติ์เข้าไว้ด้วยจากการสำรวจพื้นที่บริเวณป่าแม่แคม ป่าแม่ก๋อน และป่าแม่สาย ในท้องที่อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ และป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา ป่าแม่จริม และป่าน้ำปาด ในท้องที่อำเภอท่าปลา อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่า มีสภาพป่าสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ หรือลำน้ำน่าน ซึ่งประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา มีพันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ และสัตว์ป่าหลายชนิด ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งมีมติเห็นชอบให้กำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่แคม ป่าแม่ก๋อน และป่าแม่สาย ในท้องที่ตำบลสวนเขื่อน ตำบลป่าแดง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ และป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา ป่าแม่จริม และป่าน้ำปาด ในท้องที่ตำบลท่าแฝก ตำบลนางพญา ตำบลน้ำหมัน ตำบลจริม ตำบลท่าปลา ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา และตำบลแสนตอ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา มีเนื้อที่ ประมาณ 999.15 ตารางกิโลเมตร หรือ 624,468 ไร่ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 67 ก ลงวันที่ 30 กันยายน 2541 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 87 ของประเทศไทย

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ


น้ำตกพาเจริญเป็นน้ำตกหินปูนที่สวยงามด้วยชั้นน้ำตกที่ไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นเล็กชั้นน้อยจำนวนมาก และตั้งอยู่ริมทางหลวงไม่ไกลจากเมืองแม่สอด จึงเป็นจุดที่นิยมแวะมาท่องเที่ยวและพักผ่อน อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ใน อำเภอแม่สอด และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ประกอบไปด้วยป่าที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนเป็น แหล่งต้นน้ำลำธาร และยังเป็นต้นกำเนิดของห้วยแม่ละเมา มีเนื้อที่ประมาณ 534,375 ไร่ หรือ 855 ตารางกิโลเมตร ด้วยกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้จัดตั้งวนอุทยานน้ำตกพาเจริญ ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด ท้องที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2535 ประกอบด้วยกรมป่าไม้ได้ พิจารณาแล้ว เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ป่าบริเวณต่างๆ กำลังถูกทำลาย และยึดถือครอบครองเป็นจำนวนมาก กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 937/2536 ให้นายธารากร อุดมธรรม เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ปฏิบัติงานประจำและทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยานน้ำตกพาเจริญ จังหวัดตาก ไปดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมและจัดตั้งพื้นที่ป่าบริเวณวนอุทยานน้ำตกพาเจริญ ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ละเมา ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด ป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องแคบ และป่าแม่โกนเกน ท้องที่จังหวัดตาก และพื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียงที่มีสภาพเหมาะสมเป็นอุทยานแห่งชาติ จากรายงานการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 เรื่องการจัดตั้งวนอุทยานน้ำตกพาเจริญ จังหวัดตาก ให้เป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด ในท้องที่ตำบลด่านแม่ละเมา ตำบลพะวอ ตำบลธาตุผาแดง ตำบลแม่กุ ตำบลแม่ตาว ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด ตำบลช่องแคบ ตำบลพบพระ ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีสภาพป่าที่สมบูรณ์และมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามเหมาะสมที่จะจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติขุนพระวอ




ขุนพระวอเป็นผืนป่าบนเทือกเขาสลับซับซ้อนทางด้านตะวันตกในเขตจังหวัดตาก ความชุ่มชื้นของป่าดงดิบที่ปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น ทำให้อุทยานแห่งชาติแห่งนี้เป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยหลายสายและเกิดน้ำตกสวยงามหลายแห่งภายในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติขุนพะวอมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 137,500 ไร่ หรือ 220 ตารางกิโลเมตร อยู่ในอำเภอแม่สอด และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ด้วยกรมป่าไม้ได้พิจารณาแล้วเนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ป่าบริเวณต่างๆ กำลังถูกบุกรุกทำลายและ ยึดถือครอบครองเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ให้คงอยู่ในรูปของอุทยานแห่งชาติ จึงได้สั่งเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมและกรมป่าไม้ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ที่ทำการสำรวจ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ละเมา ป่าแม่ระมาด ป่าสามหมื่น จังหวัดตาก เนื้อที่ประมาณ 220 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 137,350 ไร่ มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่าหลายชนิด มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีอาณาเขตทิศเหนือจดถนนหมายเลข 1175 ทิศใต้จดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 ทิศตะวันออกจดที่ทำกินหมู่บ้านพะวอ หมู่บ้านแม่ละเมา อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ทิศตะวันตกจดพื้นที่เขตป่านิคมสหกรณ์แม่สอด ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ละเมา
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบ ดินร่วนปนทราย ภูเขาแต่ละลูกเชื่อมโยงติดต่อกับขุนคลองลานซึ่งเป็นจุดสูงสุดในบริเวณนี้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,439 เมตร สภาพป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนหมาก ไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำปิง
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศในเขตอุทยานแห่งชาติ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 38 องศาเซลเซียส ดู ฤดูหนาวอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม 17 องศาเซลเซียส ในฤดูฝนมีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตรต่อปี

อุทยานแห่งชาติแจ้ช้อน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ และอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิด และมีทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตก แอ่งน้ำอุ่น บ่อน้ำพุร้อน ซึ่งสามารถเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่าใต้พื้นโลกเรายังมีความร้อนระอุอยู่ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ประมาณ 480,000 ไร่ หรือ 768 ตารางกิโลเมตรป่าไม้เขตลำปางได้มีหนังสือ ที่ กษ 0709 (ลป)/4181 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2524 เรื่อง ขอกำหนดพื้นที่ป่าบริเวณน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นวนอุทยาน กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งที่ 1648/2524 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2524 ให้นายนฤทธิ์ ตันสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปทำการสำรวจ สรุปได้ว่าสภาพป่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีจุดเด่นทางธรรมชาติสวยงามหลายแห่ง มีน้ำตกและน้ำพุร้อนไหลตลอดปี เหมาะสำหรับจัดเป็นวนอุทยาน ในปีงบประมาณ 2526 กรมป่าไม้ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานแอ่งน้ำอุ่น (วนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน) บริเวณน้ำตกแจ้ซ้อน ตำบลแจ้ซ้อน กิ่งอำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 45,000 ไร่ หรือ 75 ตารางกิโลเมตร โดยอยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตลำปาง

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอชาติตระการและอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก สภาพทั่วไปเป็นป่าอุดมสมบูรณ์และธรรมชาติที่สวยงาม เป็นต้นว่า น้ำตกชาติตระการ หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “น้ำตกปากรอง” เพราะตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปากรอง หน้าผาสูงชันที่มีสีสันผิดแปลกกันเป็นร่องรอยของศิลปยุคแรกของมนุษย์ คือ รอยแกะสลักกับแผ่นดินและจุดชมวิวทิวทัศน์บนยอดเขาสูงๆ มีเนื้อที่ประมาณ 339,375 ไร่ หรือ 543 ตารางกิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติตาดหมอก

อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากบริเวณที่ดินป่าตะเบาะ และป่าห้วยใหญ่ ในท้องที่ตำบลห้วยใหญ่ ตำบลบ้านโคก และตำบลนาป่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า ภูเขา และน้ำตกที่สวยงามยิ่ง สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพื่อสงวนไว้ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน และเพื่ออำนวยประโยชน์อื่นแก่รัฐและประชาชน มีเนื้อที่ประมาณ 181,250 ไร่ หรือ 290 ตารางกิโลเมตรเมื่อปี พ.ศ. 2532 จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้พบน้ำตกสวยงามเหมาะสมที่จะปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงได้ขอให้กรมป่าไม้ทำการสำรวจพื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าตะเบาะและป่าห้วยใหญ่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และกรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการเมื่อกลางปี งบประมาณ 2534 กรมป่าไม้ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0712.3/244 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 ตามมติที่ประชุม คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2537 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เห็นชอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการตราพระราชกำหนดบริเวณที่ดินป่าตะเบาะและป่าห้วยใหญ่ ในท้องที่ตำบลห้วยใหญ่ ตำบลบ้านโคก และตำบลนาป่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ นำเสนอร่างพระราชกำหนดให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ